ร้อยเรื่องราวอัศจรรย์ สีสันภูมิปัญญาของคนรักษ์โลก

จากต้นคราม สู่การรังสรรค์เฉดสีรักษ์โลก

ผ้าย้อมคราม เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพชนไทยในการแต่งแต้มสีสันให้กับเส้นใยสีขาวดั่งเช่นเส้นฝ้าย ในอดีตสีครามเป็นสีที่มีความโดดเด่นจนได้รับสมญาว่า “The King of dyes” (Zollinger 1991 : 191) 

มนุษย์รู้จักสีครามมานานกว่า 6,000 ปี ซึ่งสกัดได้จากพืชหลายชนิดในเขตร้อน แต่ต่อมามีการผลิตสีสังเคราะห์และนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงทำให้การใช้สีธรรมชาติจากครามลดน้อยลง (อนุรัตน์ สายทอง, 2550) 

ประเทศไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการใช้ผ้าย้อมครามตั้งเมื่อใด หากแต่จังหวัดสกลนครถือเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่มีการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าย้อมคราม และได้มีการพัฒนางานผ้าครามมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน ทั้งนี้พืชที่ให้สีครามและเป็นที่นิยมใช้ในประเทศไทยมาแต่โบราณและนิยมปลูกกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ พืชสกุล Indigofera tinctoria Linn. 

ต้นครามเป็นไม้พุ่ม ตระกลูถั่ว ใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ปลายใบเดี่ยว ใบย่อยรูปรี ช่อดอกออกตามซอกใบ ดอกย่อยรูปถั่ว กลีบดอกสีชมพู ผลเป็นฝักเล็กๆ ออกเป็นกระจุก สำหรับต้นครามที่นิยมใช้ย้อมผ้าครามสกลนคร มี 2 ชนิด คือ ครามฝักตรง (ครามบ้าน/ครามใหญ่) และครามฝักงอ (ครามป่า/ครามน้อย) ใบครามสดจะสามารถให้สีครามได้โดยใช้ทั้งใบอ่อนและใบแก่รวมทั้งกิ่งประมาณ 8 กิโลกรัม จึงได้เนื้อครามปนปูนดิบ 1 กิโลกรัม และย้อมเส้นฝ้ายได้ประมาณ 200-300 กรัม ดังนั้นการปลูกครามจึงทำเป็นต้องปลูกในปริมาณมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่สามารถใช้หมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี (อนุรัตน์ สายทอง, 2545)

สีคราม หมายถึง สีที่ได้จากใบครามธรรมชาติ อันเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของสารกลูโคไซต์อินดิแคน (Glucoside indican) ที่มีในใบคราม ซึ่งเป็นสารที่ไม่มีสีและไม่ละลายน้ำ เมื่อแช่ใบครามสดในน้ำ เกิดปฏิกิริยาทางเคมีทำให้ได้สารอินดอกซิล (Indoxyl) ซึ่งเป็นสารไม่มีสีและละลายอยู่ในน้ำคราม จากนั้นอินดอกซิลจะทำปฏิกิริยากับอากาศหรือออกซิเจนอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนเป็นอินดิโก (Indigo blue) ซึ่งมีสีน้ำเงินและไม่ละลายน้ำ แต่เนื่องจากอณูของ Indigo blue เล็กและมีความละเอียดมาก ไม่สามารถแยกออกจากน้ำครามได้ หากเติมปูนดิบในน้ำคราม ละอองของ Indigo blue จะจับกับละอองของปูนดิบจนหนักและตกตะกอน จึงสามารถแยกตะกอนเก็บไว้ได้ เรียกสารผสมนี้ว่า “เนื้อคราม” หากแต่เรายังใช้เนื้อครามย้อมสีเส้นใยไม่ได้ เนื่องจาก Indigo blue ไม่ละลายในน้ำ แต่สามารถละลายได้ในสารละลายที่เป็นด่าง (น้ำขี้เถ้า/น้ำปูนใส) เมื่อ Indigo blue ถูกรีดิวซ์ในน้ำขี้เถ้า จะเกิดเกลือของอินดิโก (Indigo white) ซึ่งเป็นสารที่ไม่มีสีและละลายน้ำ และในส่วนนี้เองที่จะสามารถเข้าไปแทรกในเนื้อฝ้ายหรือเส้นด้ายในขณะที่ย้อมและเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศจะถูกออกซิไดซ์กลับไปเป็นอินดิโกสีน้ำเงิน (Indigo blue) อีกครั้งและติดสีกับเนื้อฝ้ายหรือเส้นด้ายที่ย้อมได้เป็นอย่างดี

ดอกบัวแดง ที่เปลี่ยนไป

ดอกบัวแดงที่เก็บได้จากหนองน้ำใกล้ชุมชน “ห้วยเซียงหลวง” ซึ่งจะเก็บได้ในช่วงเดือนตุลาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน (ช่วงเวลานี้สายบัวจะยาว) สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี 

จากดอกบัวแดงสีชมพูสด สามารถเปลี่ยนเป็นสีสันบนเส้นฝ้ายและเส้นไหมได้อย่างงดงามและน่าประหลาดใจ ซึ่งสีสันที่ได้นั้นไม่ใช่สีชมพูอย่างที่เราคาดคิด หากแต่เป็นสีทองและสีเงิน

ดอกบัวแดงที่ตากจนแห้งสนิท นำมาต้มเพื่อกรองเอาน้ำมาย้อมเส้นไหม จะทำให้ได้เส้นไหมสีทองสวยงาม

สายบัวตากแห้งเมื่อนำมาต้มจนเปื่อยแล้วกรองน้ำมาทำการย้อมสีเส้นด้ายหรือไหม ก็จะได้เส้นไหมสีเทาเงินที่สวยงามอย่างน่าประหลาดใจ

(เส้น) ด้าย….เปลี่ยนสี