ลวดลายท้องถิ่นอีสาน
อัตลักษณ์ภูมิปัญญาจากบรรพชน
อัตลักษณ์ลวดลายผ้าทอพื้นเมืองอีสาน-ลาว เกิดจากแรงบันดาลใจจากการสร้างสรรค์ลวดลายผ้าจากการนำความเชื่อทั้งทางพุทธ ผี นิทาน ตำนานของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงสิ่งของรอบตัวมาคิดประดิษฐ์สร้างเป็นลวดลายผ้าทอ ซึ่งลักษณะรูปแบบลวดลายผ้าทอสามารถแบ่งกลุ่มของลวดลายออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มลวดลายจากสัตว์ เป็นกลุ่มของลวดลายที่พบมากที่สุดในบรรดาลวดลายผ้าทอในอีสาน-ลาว ลวดลายจากสัตว์ในผ้าทอพื้นเมืองนั้นล้วนมีเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและความเชื่อของชาวอีสาน-ลาวมาเป็นเวลาช้านาน เช่น ลายนาค ลายสีโห ลายมอม ลายช้าง ลายคนกบ
2. กลุ่มลวดลายจากพืชพรรณธรรมชาติ ดอกไม้ เป็นกลุ่มลวดลายที่สร้างสรรค์ขึ้นตามสิ่งที่พบเห็นในธรรมชาติรอบตัว เช่น ลายดอกแก้ว ดอกพิกุล ลายดอกดาว ลายผักกูด
3. ลวดลายวัตถุสิ่งของ เป็นกลุ่มลวดลายที่สร้างสรรค์ใช้ในชีวิตประจำวันและในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ลายธรรมมาสน์ ลายขันหมากเบง ลายปราสาท
4. ลวดลายประดับหรือลวดลายเบ็ดเตล็ด คือ กลุ่มของลวดลายที่เป็นลวดลายประดับเพิ่มเติมจากลวดลายประธาน เช่น ลายกาบ ลายขอ ลายสร้อยสา ลายขนมเปียกปูน อีกทั้งยังพบว่าลวดลายที่สร้างสรรค์ขึ้นมาทั้งหมดมีลักษณะรูปแบบการสร้างลวดลายที่สัมพันธ์กับวิธีการทอผ้าในลักษณะของการสร้างลวดลายจากการยกเส้น หรือข้ามเส้นพุ่งคล้ายการจักสาน แต่มีความพิเศษในการใช้เส้นฝ้ายหรือเส้นไหมสอดเข้าไปเพิ่มทำให้เกิดลวดลายและสีสันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ลวดลายที่ทอจึงเป็นรูปแบบของรูปทรงเหลี่ยม เช่น รูปทรงสามเหลี่ยมเรียก “ลายกาบ” รูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียก “ลายโคม” รูปทรงเหลี่ยมสามด้านเรียก “ลายขอ” ลักษณะเส้นเฉียงตัวเอส เรียก “ลายนาค” เป็นต้น
ศิลปะอิสลาม จากแรงศรัทธาสู่การรังสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย
ศิลปะอิสลาม (Islamic Art) คือ ศิลปะที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดของศาสนาอิสลาม จากองค์ประกอบด้านความเชื่อ สุนทรียศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาวมุสลิม ทั้งนี้ คติหนึ่งของศิลปะอิสลาม คือ การหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามกฎเกณฑ์ที่ศาสนากำหนด อาทิ หลีกเลี่ยงการวาดรูปคนและสัตว์เพื่อป้องกันการสร้างรูปเคารพ นำไปสู่การสร้างสรรค์แนวความคิดทางศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนเกิดเป็นลวดลายประดับ 3 ชนิด อันได้แก่ ลายอักษรประดิษฐ์ ลายเรขาคณิต และลายพรรณพฤกษา ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ศิลปะที่ยังคงความงามหากแต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อห้ามทางศาสนา
ปรัชญา ทัศนะ แนวคิดต่าง ๆ ของศิลปะอิสลามมีรากฐานจากการศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว คือ “อัลลอฮ์ (Allah) ผู้ทรงสร้างและควบคุมสรรพสิ่งในสากลจักรวาล” เป็นหลักการสำคัญที่สุดของศาสนาอิสลาม และพระผู้เป็นเจ้าคือที่มาของความสวยงามทั้งมวล ดังวจนะของท่านนบีมุฮัมมัดตอนหนึ่งว่า
“อัลลอฮ์ทรงงดงามและทรงรักความงดงาม” ประกอบกับการสังเกตและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมของมนุษย์ที่สืบเนื่องจากการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ทำให้เกิดข้อคิดและการใช้สติปัญญาใคร่ครวญ ดังที่ปรากฏในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ความว่า
“และโดยแน่แท้ เราให้มีหมู่ดวงดาวในท้องฟ้า และเราได้ประดับให้สวยงามแก่บรรดาผู้เฝ้ามอง” (อัล-กุรอาน บทอัลฮิจญร์ 15:16)
ดังนั้นแล้วโครงสร้างลวดลายเรขาคณิตถือเป็นจุดกำเนิดแบบแผนทฤษฎีเชิงช่างศิลปะอิสลามอันเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน โดยเอกลักษณ์ของศิลปะอิสลาม คือ ความเป็นระเบียบ ต่อเนื่อง และสมมาตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีนัยยะสื่อถึงการให้ความเป็นเอกภาพของพระเจ้า ความเป็นระบบระเบียบ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติและความเป็นไปบนโลกใบนี้และทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น
ศิลปะอิสลามมีจุดเด่นเรื่องลวดลายประดับ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดหลักๆ ได้แก่
- ลายอักษรประดิษฐ์ (Calligraphy)
- ลายอาราเบสก์หรือลายพรรณพฤกษา (Arabesque; Floral design)
- ลายเรขาคณิต (Islamic Geometry)
จุดบรรจบความงดงามของสองวัฒนธรรม
จากแนวคิดความต้องการเห็นจุดร่วมของความงดงามทางศิลปะร่วมสมัยจากความเหมือนและความต่างของสองวัฒนธรรม นำสู่การพัฒนางานศิลปะร่วมสมัย ที่ผสมผสานอัตลักษณ์ทางด้านงานศิลป์ของวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสานและวัฒนธรรมอิสลาม จนมาพบจุดบรรจบความงดงามของอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรม ผ่านลวดลายใหม่ที่ถักทอบนผืนผ้าทอมือของคนอีสาน นับเป็นการผสมผสานลวดลายประดับที่ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวของคนพื้นถิ่นอีสาน อาทิ ดอกไม้ สิ่งของ ฯลฯ กอปรกับลวดลายเรขาคณิตอันเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจจากศิลปะอิสลาม จนเกิดเป็นความวิจิตรงดงามบนผืนผ้าที่ถักทอด้วยภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากบรรพชนรุ่นต่อรุ่น